Header ADS

header ads

รู้จักกับ “มินิมอลลิสม์” สไตล์การใช้ชีวิตแบบน้อยแต่มาก


          มินิมอลลิสม์ (Minimalism) หรือ มินิมอล (Minimal) เป็นคำที่คนส่วนใหญ่เริ่มได้ยินมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงระยะหลังๆ มานี้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกระแสสังคมที่หลายคนรับเข้ามาใช้ในการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ หลายครั้งที่เมื่อพูดถึงคำว่ามินิมอล ก็มักจะมีภาพจำเป็นการแต่งกาย การตกแต่งบ้านแบบสไตล์ของชาวญี่ปุ่น หรือรูปแบบสินค้าแบรนด์ต่างๆ ความจริงแล้ว “มินิมอล” ที่เราเห็นอยู่ในงานดีไซน์สินค้านั้น กลับเป็นเพียงการประยุกต์เอาหลักการพื้นฐานของมินิมอลมาใช้
มินิมอล (Minimal) หรือ มินิมอลลิสม์ (Minimalism) 
          เป็นกระแสหนึ่งของกลุ่มศิลปินในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 กระแสนี้เกิดจากความเบื่อหน่ายกับกระแสงานศิลป์แบบ Abstract Expressionism ซึ่งเจริญรุ่งเรืองและมีอิทธิพลมากในอเมริกายุคนั้น ศิลปะแบบ Abstract Expressionist เป็นการสะบัดสีสันลงในงาน เพื่อแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึก แต่ศิลปะแบบมินิมอลลิสต์ เป็นการถ่ายทอดสิ่งที่เรียบง่ายที่สุด ตัดทอนสิ่งอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น และแสดงออกถึงการมีอยู่ตามความที่เป็นจริงแบบตรงไปตรงมา วัตถุทรงกลม ก็คือทรงกลม สี่เหลี่ยมจัตุรัสก็คือ สี่เหลี่ยมจัตุรัส
          นอกจากการมีอิทธิพลต่อเหล่าศิลปินที่ทำงานศิลปะแล้ว กระแสมินิมอล ยังกระจายไปยังงานศิลปะด้านอื่นๆ ทั้งงานสถาปัตยกรรม งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ งานออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่การทำอาหาร จนกลายมาเป็นหลักการในการดำเนินชีวิต ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากวิถีการใช้ชีวิตของชาวญี่ปุ่นที่มีการผสมผสานแนวคิดแบบเซนเข้าไปด้วย
การดำเนินชีวิตโดยยึดหลัก มินิมอล จริงๆ แล้วคือ ความประหยัด และตัดสิ่งไม่จำเป็นออกไป มีของใช้เฉพาะที่จำเป็นต้องใช้ และมีอย่างละชิ้น หรือตามจำนวนที่ต้องใช้งานจริง
คนญี่ปุ่นในยุคหลังๆ เริ่มนำวิถีการดำเนินชีวิตแบบมินิมอลมาปรับใช้กับตัวเอง เนื่องจากความไม่แน่นอนในชีวิตที่มากขึ้น ทั้งจากภัยพิบัติ และปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ความไม่แน่นอนในชีวิตจึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเสมอ ดังนั้นการต้องเสียเงินหรือเสียพื้นที่ไปกับการจัดเก็บสิ่งของที่ไม่จำเป็น จึงคงต้องตัดทิ้งไป
ใช้ชีวิตแบบ มินิมอล ดีอย่างไร
มินิมอล ทำให้ประหยัดเงินในกระเป๋า
แน่นอนว่าหากเรายึดหลักการของมินิมอล คือ ลดทอนหรือละทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็น ย่อมทำให้เราไม่ต้องเสียเงินไปกับของกระจุกระจิก ไม่ต้องเสียเงินกับของที่มีอยู่แล้ว หรือของที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน ก่อนที่เราจะซื้ออะไรซักชิ้น ลองถามตัวเองว่าจำเป็นกับตัวเราหรือไม่ จะได้ใช้จริงๆ หรือเปล่า
มินิมอล ช่วยคืนพื้นที่ให้ชีวิต

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับการใช้ชีวิตของคนเมือง หลายๆ คนเช่าหอพัก อพาร์ตเมนท์ คอนโดฯ หรือแม้แต่คนที่มีคอนโดฯเป็นของตัวเองก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เราพบคือ ข้อจำกัดของพื้นที่ เมื่อเราใช้หลักมินิมอลในการเลือกซื้อของ ทำให้เรามีเฉพาะของที่จำเป็น ไม่ต้องเสียพื้นที่ไปกับการจัดเก็บของที่เราไม่ได้ใช้ ไม่ต้องเสียเงินซื้อตู้เพื่อเก็บของที่ไม่จำเป็น ทำให้รู้สึกถึงที่ว่างมากขึ้นในพื้นที่กำจัดของเรา หรือแม้แต่หาห้องพักที่เล็กลง ได้ราคาถูกลง เพราะไม่ต้องใช้พื้นที่ในการเก็บของที่ไม่จำเป็น
มินิมอล ช่วยลดความกังวล
เมื่อเรามีของน้อยชิ้น ความกังวลในวัตถุสิ่งของที่เป็นของเราก็น้อยลง ไม่ต้องดูแลมาก ไม่ต้องกลัวว่าของจะหาย ไม่ต้องคิดว่าของเหล่านี้จะเสื่อมเมื่อไหร่ ยังใช้ได้อยู่ไหม ทำยังไงให้ใช้ได้คุ้ม ซื้อมาจะคุ้มเงินไหม คำถามต่างๆ เหล่านี้เกี่ยวกับวัตถุที่เราครอบครองทำให้เรากังวล การทิ้งสิ่งของไม่จำเป็น ย่อมทำให้เราคลายกังวลนั่นเอง
มินิมอล ช่วยให้เข้าใจความ “สำคัญ” และ “คุณค่า”
ในระหว่างการใช้ชีวิตแบบมินิมอล เราจำเป็นต้องตั้งคำถามเพื่อหาความสำคัญและความจำเป็นของสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ ทำให้เราสามารถแยกแยะความต้องการ และความสำคัญออกจากกัน เมื่อเราเจอความสำคัญของสิ่งสิ่งนั้นแล้ว เราก็จะรู้สึกถึงคุณค่าของสิ่งสิ่งนั้นมากขึ้น เช่น คนที่ชอบซื้อหนังสือเยอะๆ แต่ไม่ได้อ่าน หากเลือกที่จะซื้อเฉพาะเล่มที่สำคัญจริงๆ เราจะพบถึงคุณค่าของหนังสือเล่มนั้นเช่นกัน


แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น